[หนังสือ Top Job Secret ภาค 2] กุญแจดอกที่ 4 “ก้าวแรกสู่สังเวียน” ตอน โหยหา
- อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)
- 20 ก.ย. 2567
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 8 เม.ย.

เปิดประตู สู่ความเป็นมืออาชีพ กุญแจดอกที่ 4 “ก้าวแรกสู่สังเวียน”
ตอน โหยหา
งานของแอคชัวรีจะเกี่ยวข้องกับการเงิน การจัดการความเสี่ยง โดยใช้คณิตศาสตร์และสถิติ เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยในการจัดการแก้ปัญหา สำหรับการทำธุรกิจ
แอคชัวรี จึงเป็นที่ต้องการในองค์กรที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับประกันภัยและธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการประกันภัย ดังต่อไปนี้
• ธุรกิจประกันภัย
• ประกันภัยชีวิต
• ประกันวินาศภัย
• ประกันสุขภาพ
• ประกันภัยต่อ
• ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการประกันภัย
• เงินสำรองผลประโยชน์พนักงาน
• วางแผนเพื่อการเกษียณ
• โรงพยาบาลหรือหน่วยงานรัฐ
• การเงิน การธนาคาร และการจัดการความเสี่ยง
• ให้คำปรึกษา
ธุรกิจประกันภัย
1. ธุรกิจประกันชีวิต (Life Insurance Company)
เป็นธุรกิจที่ให้บริการทางการประกันชีวิต การออมเงิน เงินบำนาญ และบริการทางการเงินอื่นๆ เพื่อที่จะให้ลูกค้ามีภูมิคุ้มกันและความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
งานเหล่านี้รวมไปถึงการรักษาระดับรายได้ภายหลังเกษียณ หรือการจ่ายให้กับลูกหลานหากผู้เลี้ยงดูเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร
แอคชัวรีออกแบบ ตั้งราคา และประเมินค่าสินค้าเหล่านั้น รวมถึงช่วยกำหนดสัดส่วนในการลงทุนอีกด้วย
บริษัทประกันชีวิตยังใช้แอคชัวรี สำหรับการจัดการทางการเงินและการจัดการความเสี่ยง ที่จะทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า ลูกค้าไม่โดนเอาเปรียบ และบริษัทมีเงินคืนให้ลูกค้าได้ครบถ้วน ตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญาประกันชีวิต
2. ธุรกิจประกันวินาศภัย (General Insurance)
รูปแบบประกันของบริษัทประกันวินาศภัยในทุกวันนี้คือ ประกันไฟไหม้ ประกันรถยนต์ ประกันน้ำท่วม ประกันแผ่นดินไหว ประกันรายได้ หรือประกันอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ประกันชีวิตคน
ธุรกิจนี้มีความต้องการจากแอคชัวรีมากขึ้น โดยเฉพาะการวิเคราะห์และสถิติที่สามารถประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรทางการเงินของสินค้าทางด้านประกันวินาศภัย
เงินสำรองที่จะต้องถือไว้สำหรับค่าสินไหมในอนาคต ก็เป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของธุรกิจนี้เช่นกัน
3. ธุรกิจประกันสุขภาพ (Health Insurance)
หนึ่งในสวัสดิการทางสังคมที่จำเป็นต้องมีนั้นคือการประกันสุขภาพ เพราะสุขภาพ ถือเป็นสมบัติล้ำค่ำของคนเราที่สุด
การออกแบบและบริหารความเสี่ยงของการประกันสุขภาพนั้นจำเป็นต้องดูถึงการเข้าถึงของระบบคลีนิคหรือโรงพยาบาล และความเท่าเทียมกันของผู้ได้รับการรักษา รวมไปถึงโครงสร้างของการจ่ายยา อีกด้วย
แต่ถึงแม้จะมีเงินซื้อประกันสุขภาพแค่ไหนก็ตาม มันก็ไม่ได้เป็นหลักการันตีที่จะทำให้สุขภาพดีได้ ดังนั้น คนเราจึงจำเป็นต้องรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เดินทางสายกลาง ไม่ให้ตึงหรือหย่อนเกินไปครับ
4. ธุรกิจประกันภัยต่อ (Reinsurer)
หลายคนคงจะไม่เคยได้ยินคำว่า ประกันภัยต่อ แต่โดยหลักการแล้ว การประกันภัยต่อนั้น ถือเป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ของธุรกิจประกันภัย
จะเห็นว่าบริษัทประกันภัยเป็นบริษัทที่ต้องแบกรับความเสี่ยงต่างๆ ของลูกค้าเอาไว้ เพราะต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้าในระยะยาว
การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่เมื่อความเสี่ยงบางประเภทที่รับเข้ามาแล้วเห็นว่ามีปริมาณมากหรือไม่เหมาะสมจนทำให้บริษัทต้องมองหาวิธีผ่องถ่ายความเสี่ยงนี้ไปสู่ที่อื่น
เหมือนน้ำที่ไหลเข้ามาในเขื่อน มากจนเกินไป ก็จะต้องหาวิธีผันน้ำไปกระจายต่อที่แหล่งกักเก็บน้ำอีกแห่งหนึ่ง
บริษัทประกันภัยจึงต้องมองหาบริษัทที่รับประกันภัยต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งบริษัทที่รับผ่องถ่ายความเสี่ยงจากบริษัทประกันภัยนั้นจะเรียกว่า “บริษัทประกันภัยต่อ” ซึ่งปกติแล้วจะมีเงินทุนที่หนาและใหญ่กว่าบริษัทประกันภัยทั่วไปมาก
โดยบริษัทประกันภัยต่อ จะเปรียบได้กับเขื่อนอีกชั้นหนึ่ง ที่ทำหน้าที่รองรับความเสี่ยงต่างๆ จากบริษัทประกันภัย
ธุรกิจทางเลือก
1. เงินสำรองผลประโยชน์พนักงาน
เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การคำนวณเงินสมทบ และการพัฒนากลยุทธ์ทางการลงทุนเพื่อที่จะสามารถจ่ายคืนเงินบำนาญได้ตามที่สัญญาไว้
แอคชัวรีในธุรกิจประเภทนี้ ต้องอธิบายเรื่องราวที่ซับซ้อนให้ชัดเจนได้อีกด้วย
2. วางแผนเพื่อการเกษียณ
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และกำลังจะกลายเป็นสังคมสูงอายุไปเสียแล้ว แต่ที่คนไทยจำนวนมากอาจยังคาดไม่ถึงคือ นับแต่นี้ต่อไป สังคมไทยจะมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก
ในช่วงเวลากว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มประชากรลดลงจาก 3% ต่อปี มาสู่ 1% ต่อปี ในขณะที่อัตราการตายของประชากรไทยได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 0.5% ต่อปี เท่านั้น
อายุคนเราจะยืนขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว เพราะการแพทย์ปัจจุบัน เราอาจจะอยู่กันเป็น 100 ปี และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็คงต้องลองคำนวณว่าเมื่อไหร่เงินเก็บที่เรามีจะหมดไป โดยการที่เงินเกษียณหมดก่อนเสียชีวิต ก็เหมือนกับการตายทั้งเป็น
3. โรงพยาบาลหรือหน่วยงานรัฐ
การประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลและหน่วยงานงบประมาณของรัฐทั้งนั้น ซึ่งการจัดการส่วนใหญ่จะต้องอาศัยการดูแลเรื่องต้นทุน ความเสี่ยง และความเท่าเทียมกันของผู้บริโภค
ในอนาคตอันใกล้นี้ คงจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องการตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายในด้านประกันสุขภาพนั้น นับวันมีแต่เพิ่มทวีขึ้น
ส่วนคนสูงอายุที่มีมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐก็อาจจะมีงบประมาณไม่เพียงพอ อันเป็นสาเหตุที่จะต้องมีบุคคลที่สามารถช่วยจัดการและประเมินความเสี่ยงทางด้านนี้มาช่วย
4. การเงิน การธนาคาร และการจัดการความเสี่ยง
สูงสุดกลับคืนสู่สามัญ งานของแอคชัวรีนั้น จริงๆ แล้วคือ นักจัดการและประเมินความเสี่ยง ที่อาศัยแนวความคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ประกอบกับวิชาสถิติประยุกต์ มาช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจ
ดังนั้น งานในส่วนนี้ จึงเป็นที่ต้องการในต่างประเทศ โดยจะเห็นได้จากประเทศออสเตรเลีย และอังกฤษ ที่เริ่มใช้งาน แอคชัวรี ให้มาทำโครงการงานต่างๆ กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการใหม่ๆ หรือการให้ช่วยออกแบบเครื่องมือทางการเงิน เพื่อให้ใช้กันในประเทศ
อีกทั้งจะเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐในฮ่องกง ได้จ้างแอคชัวรีเพื่อที่จะตรวจสอบดูแลอุตสาหกรรมการเงินของประเทศ ในขณะที่โลกของเราเชื่อมต่อกันมากขึ้น หน้าที่อันหลากหลายก็เปิดกว้างมากขึ้น สำหรับวิชาชีพแอคชัวรี
โอกาสของแอคชัวรี จึงได้ถูกเปิดกว้างขึ้นในหลากหลายส่วนงาน เช่น ทางการศึกษาสิ่งแวดล้อม และ Climate change ธุรกรรมทางอินเตอร์เนต งานสาธารณูปโภค จำพวกรถไฟฟ้า โรงงานถ่านหิน งานเกี่ยวกับพันธุกรรม
5. ธุรกิจให้คำปรึกษา (Actuarial Consultancy)
แอคชัวรี อาจได้รับโอกาสเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งก็ไม่พ้นธุรกิจที่จัดการความเสี่ยง รวมถึงธุรกิจที่มีการควบรวมกิจการ
งานในบริษัทที่ปรึกษาส่วนใหญ่ ก็ไม่พ้นธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันวินาศภัย ธุรกิจการคำนวณผลประโยชน์ของพนักงาน ธุรกิจจัดการความเสี่ยง หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการทางสังคม เป็นต้น
เนื้อหานี้มาจากหนังสือเรื่อง “The Top Job Secret ภาค 2 เปิดประตู สู่ความเป็นมืออาชีพ” เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้และแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับสายอาชีพ “แอคชัวรี” ที่ถูกบรรจงเขียนผ่านการถ่ายทอดของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยชื่อดัง “อาจารย์ทอมมี่ เจียรมณีทวีสิน” หรือที่รู้จักกันในนาม “ทอมมี่ แอคชัวรี” หากสนใจอ่านเนื้อหาเพิ่มเติม สามารถดูรายละเอียดและสั่งซื้อหนังสือได้ที่ https://www.tommypichet.com/book
เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)
FSA, FIA, FSAT, FRM, MBA, MScFE (Distinction), B.Eng (Hons)
ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น
Comments