top of page

TFRS9 & Actuary


IFRS9 & Actuary
IFRS9 & Actuary

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประชุมนำมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS9) เข้ามาใช้ในประเทศไทย ส่งผลให้ธุรกิจในประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อให้ทันต่อมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ในครั้งนี้โดยมีจุดประสงค์ คือเพื่อให้การลงบัญชีมีความเป็นสากลมาก ยิ่งขึ้นปรับเปลี่ยนไปเป็นตามที่มาตรฐานที่ทั่วโลก นั้นใช้กันจากมาตรฐานเดิม IAS 39 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ใน 1 มกราคม 2562


มาตรฐานการรายงานทางการเงิน หรือ มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 9 (TFRS9) เป็นมาตรฐานที่เกี่ยวกับ เครื่องมือทางการเงิน ซึ่งวัตถุประสงค์คือ การจัดทำรายงานทางการเงินสำหรับ “สินทรัพย์ทางการเงิน และ หนี้สินทางการเงิน” เพื่อเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินในการประเมินถึงจำนวนเงิน ช่วงเวลา และความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดในอนาคตของกิจการ โดย TFRS9 สามารถแบ่งเป็น 3 เรื่องหลักๆ คือ

- การจัดประเภทรายการและวัดมูลค่า (Classification and Measurement)

- การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment)

- การป้องกันความเสี่ยงทางบัญชี (Hedge Accounting)


การจัดประเภทรายการและวัดมูลค่า คือ การดูรูปแบบการดำเนินธุรกิจของกิจการในการจัดการสินทรัพย์ทางการเงินและลักษณะของกระแสเงินสดตามสัญญาของสินทรัพย์ทางการเงิน


การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงินตาม TFRS9

IFRS9 & Actuary
IFRS9 & Actuary

แล้วอะไรคือการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment) ตามมาตรฐาน TFRS9 ?

ยกตัวอย่างจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ปัจจุบันการตั้งสำรองของลูกหนี้ปกติที่ค้างชำระ 0-30 วัน สำรองแค่ 1% ของวงเงินสินเชื่อ แต่เกณฑ์ใหม่ให้ (TFRS9) ตั้งสำรองตามโอกาสความเสี่ยงในรอบ 12 เดือนข้างหน้า โดยอาจดูจากพฤติกรรมการชำระหนี้ในอดีตว่าเคยมีประวัติค้างชำระหรือไม่ และวิเคราะห์ความเสี่ยงไปข้างหน้าว่าลูกหนี้ทั่วไปมีโอกาสจะผิดนัดชำระหรือไม่ ซึ่งหากมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ทางธนาคารต้องตั้งสำรองให้กลุ่มนี้มากกว่า 1% สำหรับลูกหนี้ที่ค้างชำระ 30-90 วัน เดิมแบงก์ตั้งสำรอง 2% เกณฑ์ของมาตราฐานใหม่ (TFRS9) พิจารณาการตั้งสำรองบนโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ตลอดอายุสัญญาการกู้ เช่น หากค้างชำระแล้ว 1 งวด และมีความเสี่ยงผิดนัดชำระงวดที่ 2 แบงก์อาจต้องตั้งสำรองเพิ่มเป็น 10% หรืออาจต้องตั้งสำรองเต็ม 100% ได้

จากตัวอย่างข้างต้น ธนาคารมีการตั้งสำรองจากพฤติกรรมการชำระหนี้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระดับตามหลัก “Expected Credit Loss” ดังนี้

1) หากลูกหนี้ไม่มีการผิดนัดชำระเลย จะมีการตั้งเงินสำรองตามกระแสเงินสดที่จะได้รับภายใน 12 เดือน (12 month expected credit losses)

2) หากลูกหนี้มีความเสี่ยงการผิดนัดชำระสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จะต้องการตั้งสำรองโดยคำนวณใหม่ตามอายุของตราสารนั้น ๆ แทน (Lifetime expected credit losses)

3) หากลูกหนี้ปฏิบัติผิดสัญญา มีประวัติการค้างชำระหรือผิดนัดชำระ กิจการจะตั้งสำรองเพิ่มตามสัดส่วน ความ

เสี่ยงที่สูงขึ้นและพิจารณากระแสเงินสดตามอายุของตราสารนั้น ๆ แทน (Lifetime expected credit losses)


สุดท้ายคือ การบัญชีป้องกันความเสี่ยง (Hedge accounting) เป็นหนึ่งในมาตรฐานการบัญชีที่เจ้าของกิจการจำเป็นต้องทำเพื่อลดผลกระทบและกระจายความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับมูลค่าของสินทรัพย์ที่ครอบครอง


นักคณิตศาสตร์ประกันภัยกับการคำนวณ TFRS9

IFRS9 & Actuary
IFRS9 & Actuary

แล้วนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีส่วนร่วมกับการทำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (TFRS9) ฉบับนี้ยังไง ?

ตามมาตรฐาน TFRS9 ได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อลดช่องโหว่ทดแทนมาตรฐานฉบับเดิมกล่าวคือ จะมีการลงบัญชีก็ต่อเมื่อเกิดการผิดนัดชำระไปแล้ว ซึ่งเป็นการลงบัญชีแบบไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถนำไปตั้งเงินสำรองของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มาตรฐานฉบับใหม่ (TFRS9) นั้นมีการนำหลักการทางคณิตศาสตร์ประกันภัยมาประยุกต์นั้นก็คือ การคิดความน่าจะเป็นที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระ (Probability of Default) ในส่วนของ การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment)


แล้วนักคณิตศาสตร์ประกันภัยทำงานอย่างไรตามมาตราฐานการายงานทางการเงินฉบับที่9 (TFRS9) ?

โดยทั่วไปแล้วนักคณิตศาสตร์ประกันภัยมองว่า ความไม่แน่นอนหรือความเสี่ยงนั้นเปรียบเสมือนโอกาสสำหรับพวกเขา เพราะงานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือ การวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการพยากรณ์หรือทำนายสิ่งอาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวเพื่อที่จะประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด และโอกาสของสิ่งที่ดีที่สุดรวมถึงสิ่งที่แย่ที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้


แต่อย่างไรก็ตามนักคณิตศาสตร์ประกันภัย ไม่ได้ทำงานแค่ในธุรกิจประกันภัยตามชื่อเท่านั้น แต่สามารถทำงานร่วมกับบริษัทต่าง ๆ ได้ เช่น สถาบันทางการเงินต่าง ๆธนาคารพาณิชย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพหน่วยงานภาครัฐ และอื่น ๆ อีกมากมาย

สรุปคือ ภายใต้มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS9) นั้นจำเป็นต้องใช้ความรู้ของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อคำนวณ วิเคราะห์และเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาจำลองและสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งก็คือความน่าจะเป็นที่ลูกหนี้จะผิดนัดชำระ (Probability of Default) เพื่อคำนวณการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment) ให้ตรงตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน (TFRS9) นั้นสามารถอธิบายได้จาก “การวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบัน และสร้างโมเดลคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”



 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

Comments


bottom of page