เมื่อเด็กเอนที่ 1 สละสิทธิ์เรียนคณะแพทย์ เพราะอยากเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย
อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) – แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น (ABS)
และแล้ววงการประกันภัยก็หันมาจับจ้องกับเหตุการณ์นี้ เมื่อมีข่าวว่าเด็กที่สอบเอนทรานซ์ที่ได้ที่ 1 เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ได้สละสิทธิ์เรียนหมอและเลือกหันมาเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแทน ซึ่งร้อยวันพันปีที่จะเห็นคนเก่งๆ แบบนี้ให้ความสนใจเข้ามาสู่เส้นทางสายนี้
" ผมจึงขอท้าอาสามาพูดคุยกับน้องคนเก่งของเรา น้องฉัตรมงคล ปิ่นทอง หรือน้องคิด ดังต่อไปนี้ครับ "
ทอมมี่ : ก่อนอื่นก็ต้องขอแสดงความยินดีให้กับน้องคิดที่เอนทรานซ์เข้ามาได้คะแนนที่ 1 ของประเทศ ไม่ทราบว่าลำบากมากไหมครับกว่าจะไปถึงจุดนี้ได้
น้องคิด : ก็ยากมากเลยครับ พยายามอ่านหนังสือและทำความเข้าใจกับบทเรียนทุกวัน ก็ไม่คิดเหมือนกันครับว่าผลลัพธ์จะออกมาได้ดีกว่าที่คาดไว้
ทอมมี่ : และตอนนั้นรู้สึกอย่างไรบ้างครับ
น้องคิด : รู้สึกภูมิใจมากและอยากจะขอบคุณ คุณพ่อ คุณแม่และคุณครู รวมถึงเพื่อนๆ และสิ่งแวดล้อมที่ช่วยสนับสนุนให้ผมประสบความสำเร็จในการสอบเอนทรานซ์ครั้งนี้ด้วย
ทอมมี่ : วิชาอะไรที่เราชอบมากที่สุดครับ และทำไมถึงชอบวิชานั้น
น้องคิด : ผมชอบวิชาคณิตศาสตร์ครับ เพราะมันตรงไปตรงมา ได้ใจ ใช้ได้จริง และตัวเลขไม่เคยโกหกเราครับ
ทอมมี่ : จริงหรือเปล่าครับที่น้องคิด สละสิทธิ์ในการเรียนแพทย์ และหันมาตั้งเป้าเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย
น้องคิด : ครับผม ผมอยากเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยครับ
ทอมมี่ : พี่สงสัยจังเลยครับว่าอะไรทำให้น้องรู้จักอาชีพนี้จนกลายเป็นตัวจุดประกายที่สร้างแรงบันดาลใจให้น้องอยากเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยครับ
น้องคิด : ผมได้ฟังจากวิทยุและได้อ่านหนังสือ Top Job Secret ของพี่เกี่ยวกับอาชีพนี้ ทำให้ผมได้ติดตามบทความที่พี่เขียนและเข้าใจว่าอาชีพนี้ยังขาดแคลน ตลอดจนมีความสำคัญในการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ทำให้จุดประกายจนกลายเป็นอาชีพที่ผมอยากเป็นครับ
ทอมมี่ : รู้สึกยินดีมากเลยครับที่ผลงานของพี่เป็นหนึ่งในแรงบัลดาลใจให้คนเก่งๆ อย่างน้องได้รับรู้ว่าอาชีพนี้มีตัวตนอยู่ และอย่างนี้ก็ทราบสิครับว่าถ้าจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นจะต้องมีความรู้ทางด้านใดบ้าง
น้องคิด : เท่าที่ทราบมาก็มีความรู้ทางการประกันภัย สถิติ ความน่าจะเป็น เศรษฐศาสตร์ การบัญชี ทฤษฎีดอกเบี้ย รวมไปถึงการสร้างแบบจำลองอนาคต
ทอมมี่ : นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เลือกเรียนจุฬาฯ คณะบัญชี สถิติ สาขาประกันภัยหรือเปล่าครับ
น้องคิด : ถึงแม้ว่าการจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องจบปริญญาทางด้านนี้มาโดยตรง เพราะการจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นจะต้องสอบเอาคุณวุฒิที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งก็มีอยู่ 10 ตัวหลักๆ ถ้าสอบได้ครบหมดก็จะได้คุณวุฒิสูงสุดระดับเฟลโล่ (fellow) เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วก็จบคณะอะไรมาก็ได้ แต่ที่ผมเลือกเรียนที่คณะนี้ เพราะมีวิชาที่ใกล้เคียงกับการสอบเป็นนักคณิตศาตร์ประกันภัยที่ผมต้องสอบครับ
ทอมมี่ : ถ้างั้นน้องคิดตั้งเป้าสอบคุณวุฒินักคณิตศาสตร์ประกันภัยอย่างไรบ้างครับ
น้องคิด : อยากสอบครบ 10 ขั้นจนเป็นเฟลโล่ครับ ผมทราบมาว่าในต่างประเทศนั้น การสอบ 4 – 5 ตัวแรกจะทำควบคู่กับการเรียนในมหาวิทยาลัยไปด้วย ผมวางแผนจะทยอยสอบตั้งแต่ตอนปี 1 เพราะเริ่มเห็นเพื่อนที่วางแผนจะสอบผ่านให้ได้ 2 ตัวแรกในตอนปี 1 อยู่เหมือนกัน โดยตัวแรกก็จะเป็นวิชาคณิตศาสตร์การเงิน (Financial Mathematics) และตัวถัดมาก็จะเป็นวิชาความน่าจะเป็น (Probability) ซึ่งผมเคยเห็นตัวข้อสอบมาบ้างครับ ยากทีเดียว อ่านดูแล้วยังไม่เคยเรียนมาก่อน จะไปหาที่เรียนเสริมเพื่อเตรียมตัวสอบวุฒิเหล่านี้เป็นการเฉพาะอยู่ครับ
ทอมมี่ : ในตอนเรียนม.ปลายนั้นได้เรียนกวดวิชาทางคณิตศาตร์บ้างไหมครับ และการกวดวิชาในระดับมหาวิทยาลัยนั้นจำเป็นแค่ไหนครับ
น้องคิด : ผมไม่เคยกวดวิชาคณิตศาสตร์ในตอนม.ปลายครับ แต่สำหรับการจะเลือกเรียนเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นก็อยากจะหาที่เรียนเสริมเพราะมันเป็นวิชาเฉพาะทางและการสอบแต่ละครั้งก็จะจับเอาหลายๆ วิชามาผสมกัน ซึ่งถ้าเราพยายามอ่านเองก็น่าจะพอสอบผ่านได้ แต่คงต้องใช้เวลานานกว่าจะผ่านไปจนครบ 10 ขั้น และในตอนนี้ก็ทราบมาว่าทางสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทยก็เริ่มสนับสนุนให้มีการจัดสอนกวดวิชาเฉพาะทางด้านนี้อยู่ ถือว่าเป็นโชคดีของผมที่จะได้ไปเรียนครับ ซึ่งผมว่ามันก็คงเหมือนกับการจบทางด้านนิติศาสตร์แล้วไปกวดวิชาเพื่อเรียนเนไปสอบเป็นอัยการ
ทอมมี่ : พี่ก็ว่าการสอบแต่ละขั้นของคุณวุฒิทางคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นมันไม่ง่าย ถ้าหาที่เรียนเสริมได้ก็ถือว่าเป็นการลงทุนสร้างความรู้ทางปัญญาที่คุ้มค่าครับ โดยเฉพาะหัวโค้งสุดท้ายของการศึกษาก่อนที่จะจบออกไปทำงานกัน
น้องคิด : แล้วพี่ทอมมี่ล่ะครับ เคยเรียนกวดวิชาในการสอบหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือเปล่าครับ
ทอมมี่ : เคยครับ ตอนนั้นเป็นตัวที่ 6 เกี่ยวกับวิชาการลงทุน อ่านหลายรอบแล้วก็ยังทำความเข้าใจได้ยาก โชคดีที่ตอนนั้นบริษัทของพี่ได้หาอาจารย์พิเศษมาสอนให้ตัวต่อตัวจึงโชคดีผ่านไปได้ แต่กว่าจะหาคนมาสอนให้พี่ได้นี่ก็ยากลำบากกันน่าดู
น้องคิด : ถ้าผมได้สอบจนถึงขั้นสูงสุดแล้ว ผมก็อยากจะนำความรู้ที่ได้มาถ่ายทอดต่อให้คนอื่นเหมือนกันครับ
ทอมมี่ : ดีมากเลยครับ เราต้องการคนที่มีความคิดแบบน้องอยู่ จะได้ช่วยพัฒนาบุคลากรไปด้วยกัน และในความเห็นของน้องแล้วคิดว่าการสอบเอาคุณวุฒิสำหรับนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นจำเป็นแค่ไหนครับ
น้องคิด : ผมว่าจำเป็นมากนะครับ เพราะนักคณิตศาสตร์ประกันภัยต้องมีความเป็นมืออาชีพและมีความรู้ที่เฉพาะเจาะจง เปรียบเหมือนหมอที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์และสอบเอาคุณวุฒิเฉพาะทางหาความรู้ต่อไปเรื่อยๆ
ทอมมี่ : จริงครับ การสอบคุณวุฒินั้นก็เหมือนกับการเพิ่มระดับความรู้เฉพาะทางของตัวเองเอง ถึงสอบได้ไม่ครบหมดก็ยังสามารถประกอบอาชีพนี้ได้ เหมือนหมอก็แบ่งเป็นหมอทั่วไป หมอศัลยกรรม หรือแม้กระทั่งหมอที่ไปเรียนเพิ่มเติมเฉพาะทางจนเป็นหมอศัลยกรรม ผ่าตัดสมองหรือหัวใจเป็นต้น ซึ่งก็เปรียบเสมือนนักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับต้น ระดับแอสโซสิเอต และระดับเฟลโล่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางนั่นเอง
น้องคิด : ผมเห็นว่าการสอบได้เร็วก็จะทำให้ได้รับมอบหมายงานที่ท้าทายและก้าวหน้าไปได้เร็วด้วยครับ
ทอมมี่ : ในการสอบนั้นจะต้องใช้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ซึ่งแม้แต่พี่เองก็เคยตกเลขมาก่อนในสมัยที่เพิ่งเข้าม.4 กว่าจะจับจุดถูกทางแล้วค่อยๆ ฝึกฝนจนเก่งขึ้นมาได้ ก็เล่นเอาเหนื่อยอยู่เหมือนกัน ทำให้อยากถามเผื่อเพื่อนๆ ของน้องที่ยังจับจุดวิชาคณิตศาสตร์ไม่ถูกว่าน้องคิดเคยมีเทคนิคอะไรไหมครับในการเรียนเลข
น้องคิด : เรียนให้เป็นระบบ ให้เป็นเหตุผล ไม่ต้องท่องจำครับ ใช้ความเข้าใจเป็นหลัก ตอนแรกๆ อาจจะไม่เร็วก็ทำทีละขั้นไปบ้าง เดี๋ยวก็ค่อยๆ เร็วขึ้นเอง
ทอมมี่ : แล้วมีเทคนิคสำหรับคนที่เรียนเลขไม่เก่งอย่างไรบ้างครับ
น้องคิด : คณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่ง่ายถ้าคิดมีเหตุมีผล ถ้าเริ่มเขวออกจากคณิตศาสตร์เมื่อไรก็ต้องปรึกษาครู พ่อแม่ หรือติวเตอร์ก็ได้ ซึ่งในจุดนี้ผมคิดว่าครูทางคณิตศาสตร์ก็ยังขาดแคลนอยู่
ทอมมี่ : พอน้องคิดได้เป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่แล้ว อยากจะทำอะไรบ้าง
น้องคิด : อยากพัฒนาส่งเสริมบุคคลากรทางด้านต่างๆ ให้มีมากขึ้น และอยากช่วยบุคคลากรในอาชีพอื่นๆ เช่น เกษตรกร ได้มีสวัสดิการที่ดีขึ้น เพราะอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นเบื้องหลังของความสำเร็จในอาชีพอื่น
ทอมมี่ : เป็นเบื้องหลังอย่างไรได้บ้างครับ
น้องคิด : คือชีวิตคนเราอยู่บนความไม่แน่นอน อยากจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับคนอื่นได้ด้วยเครื่องมือทางการประกัน สมมติว่าถ้าชาวนามีคนประกันให้ดีๆ ชาวนาก็จะมีเงินพอกินพอใช้ตั้งแต่ต้น ถ้ามีประกันดีๆ วิทยาการทางการแพทย์ก็จะช่วยรักษาคนได้มากขึ้น คนเจ็บไข้ก็มีเงินประกันมารักษาพยาบาลได้
ทอมมี่ : แล้วกับธุรกิจประกันภัยล่ะครับ คิดว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีบทบาทเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง
น้องคิด : ผมอยากทำอะไรให้กับธุรกิจประกันภัย เพื่อให้เข้าถึงกับสังคมและทุกอาชีพ และเพื่อให้รู้ว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยมีประโยชน์ มีตัวตน และอยู่เบื้องหลังของการจัดการความเสี่ยง เกี่ยวข้องโดยไม่เอาเปรียบลูกค้า แต่ก็ต้องไม่ทำให้บริษัทขาดทุน เพื่อจะได้ให้บริษัทคงอยู่ได้และไม่เสื่อมสลายไปตามเวลา ผมว่าตอนนี้ยังไม่ค่อยมีใครเข้าใจว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยทำอะไรกันเท่าไร
ทอมมี่ : น้องคิดมีอะไรอยากจะฝากถึงคนที่กำลังคิดอยากจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยบ้างครับ
น้องคิด : คิดให้ดีว่าถนัดคณิตศาสตร์หรือเปล่า หรือว่าถนัดอะไร ถ้าสมมติว่าถนัดวิชาอื่น ผมก็อยากเชิญชวนให้ไปเลือกอาชีพในสิ่งที่ตัวเองถนัด เพราะว่าคนเราสามารถทำงานได้ดีถ้าเราชอบหรือทำในสิ่งที่ถนัดที่สุด อยากให้เพื่อนๆ หาตัวตนของตัวเองให้เจอครับ
ทอมมี่ : แล้วน้องคิดหาตัวตนของตัวเองเจอตั้งแต่เมื่อไรครับ
น้องคิด : ผมชอบมองปัจจุบัน มองอดีต เพื่อมองอนาคต ต้องขอขอบคุณครูประวัติศาสตร์ที่สอนให้ผมคิดได้ถึงจุดนี้ด้วย ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมีแนวโน้มมาจากอดีตและปัจจุบันเสมอ และก็โชคดีที่มีวิชาคณิตศาสตร์ให้เลือก ทำแล้วถนัด ก็รู้สึกดีที่ได้ทำ และก็ได้ทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งผมพบวิชานึงในสาขาของคณิตศาสตร์ นั่นก็คือวิชาสถิติ ที่ลงลึกด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งก็เป็นอาชีพที่กำลังขยายตัวอย่างเร็วที่สุด เพราะมีคนประกอบอาชีพน้อย
ทอมมี่ : ตอนนี้มีคนสนใจเข้ามาเรียนทางสายนี้กันเยอะขึ้น น้องคิดมองว่าคนที่จบจากสายอาชีพนี้จะล้นตลาดหรือไม่ครับ
น้องคิด : ถ้าตลาดทางด้านสถิติประกันภัยมันล้น เราก็สามารถเบนเข็มไปที่สถิติได้ทันที แถมยังได้เปรียบคนอื่นด้วยเพราะมีความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงไปในตัว และถ้าไม่อยากเป็นนักสถิติก็ไปเลือกเป็นนักบัญชี นักเศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่เป็นนักบริหารก็ได้ แต่ผมเห็นว่าตลาดนี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คนสูงอายุก็มีมากขึ้นทุกวัน การออมเงินผ่านทางการประกันก็มีความสำคัญมากขึ้น อย่างเช่น การลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันชีวิต เป็นต้น ดังนั้นผมว่าโอกาสจึงยังมีอยู่อีกมากครับ ในขณะเดียวกันการจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นจะเทียบกันที่จำนวนขั้นที่สอบได้ จึงเหมือนหมอหรืออัยการที่ต้องสอบเอาวุฒิเฉพาะทางเพื่อความเป็นมืออาชีพ
ทอมมี่ : สุดท้ายนี้ พี่อยากให้น้องคิดลองเปรียบเทียบอาชีพนักคณิตศาสตร์ประกันภัยกับหมอในมุมมองของน้องคิดดูครับ
น้องคิด : ผมเห็นว่าสองอาชีพนี้ไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกัน แต่ควรนำมาเสริมกันมากกว่า ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะขนาดหมอเวลาจะสร้างโรงพยาบาลก็ต้องให้วิศวรหรือสถาปนิกมาออกแบบให้เลย ในขณะเดียวกันเวลาที่นักคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่สบายก็ต้องไปหาหมอ ต่างคนต่างมีความเป็นมืออาชีพและทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดครับ ผมเชื่อว่าทั้งสองอาชีพนี้สามารถทำประโยชน์ให้กับคนในสังคมได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อจบมาแล้วจะตั้งใจทำประโยชน์เพื่อสังคมมากแค่ไหน
ทอมมี่ : พี่ก็เห็นเหมือนกันครับ ต่างอาชีพต่างก็มีจุดดี สุดท้ายก็ขึ้นกับว่าคนที่เรียนนั้นชอบหรือถนัดอะไร ทำประโยชน์คืนสู่สังคมได้เหมือนกัน พี่ดีใจนะครับที่น้องค้นหาตัวเองได้เร็วกว่าคนอื่นและมีเป้าหมายที่ต้องการจะมุ่งไปข้างหน้า พี่เองก็ต้องการดึงคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงเข้ามาทำงานในสายธุรกิจประกันภัยและ ส่งเสริมภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยเพื่อกลับมาดึงดูดคนเก่งๆ เหล่านั้นเข้ามาทำงานในสายนี้ พี่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าน้องจะกลายเป็นผู้นำที่มีความสำคัญให้กับธุรกิจประกันภัยในอนาคตและถ่ายทอดให้คนรุ่นถัดได้ทำประโยชน์กับธุรกิจประกันภัยต่อๆ ไปเช่นกันครับ
นักคณิตศาสตร์ประกันภัย คือ นักวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีทักษะรอบตัว ทั้งทางด้านคณิตศาสตร์ สถิติศาสตร์ และการเงิน รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในการประเมินผลกระทบทางการเงินจากความไม่แน่นอนในปัจจุบันและเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยวิเคราะห์เหตุการณ์ในอดีต ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบันและสร้างแบบจำลองคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พยากรณ์ออกไปในระยะยาวเพื่อประเมินสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุด รวมถึงโอกาสของสิ่งที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดของเหตุการณ์
นักคณิตศาสตร์ประกันภัยไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรีทางด้านนี้โดยตรง หากแต่จะต้องสอบคุณวุฒิทางคณิตศาสตร์ประกันภัย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะสอบไปได้ไกลแค่ไหน ทำให้ปริญญานั้นเป็นเรื่องรอง แต่ถ้าได้เรียนตรงมาก็จะได้เปรียบกว่า ส่วนการจะทำงานเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในสายอาชีพนี้ก็ควรจะสอบผ่านวิชาพื้นฐานประมาณ 2 – 3 ตัว (เช่น คณิตศาสตร์การเงินหรือความน่าจะเป็น) เสียก่อน
ขอขอบคุณอ้างอิง : FINNOMENA
สัมภาษณ์โดยอาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)
คลังความรู้ : วันที่ 19 กรกฎาคม 2560
เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น
Comments