
ในการประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินครั้งที่ 4 ประจำปี 2566 ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบต้องการแต่งตั้ง อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน) ให้เป็นที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อให้คำปรึกษาหรือข้อแนะนำ ส่งเสริม สนับสนุน ให้กับการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบการเงินและการบัญชี
โดยที่ปรึกษามีหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ให้คำปรึกษาและเสนอความเห็นต่อการปฏิบัติงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
เนื่องจากอาจารย์ทอมมี่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ที่ประยุกต์ความรู้มาใช้กับมาตรฐานบัญชีและมาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับต่างๆ ที่ต้องอาศัยการคำนวณที่ซับซ้อน เช่น TFRS2, TFRS9, TFRS16, หรือ TFRS17 อีกทั้งมี มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการสร้างแบบจำลองทางการเงินโดยใช้หลักสถิติประยุกต์เข้ามาประเมินมูลค่าให้เหมาะสม และมีพื้นฐานความรู้ทางด้านวิศวกรรมการเงินและการบัญชี เพื่อสื่อสารและอธิบายเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายให้กับผู้บริหารและผู้สอบบัญชีได้

อาจารย์ทอมมี่มีประสบการณ์ทำงานด้านการเงินมา 24 ปี ด้วยดีกรี MBA Finance และ ดีกรีวิศวกรรมการเงิน เกรด 3.87 มีสอบคุณวุฒิคณิตศาสตร์ประกันภัย คุณวุฒิ CFA level 2 และ คุณวุฒิ FRM (Financial Risk Manger) ของสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาธุรกิจประกันภัย ประธานกรรมการคณิตศาสตร์ประกันภัยของสมาคมประกันชีวิตไทย กรรมการสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัยของสมาคมประกันวินาศภัยไทย กรรมการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม และได้รับรางวัลทางสังคมมาตลอด เช่น “Young ASEAN Manager Award (YAMA)” จากสภาธุรกิจประกันภัยในอาเซียน รางวัล “นักสถิติดีเด่นแห่งชาติ” จากสมาคมสถิติแห่งประเทศไทย และ “อาจารย์ดีเด่น” จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนิด้า และ รางวัล บุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจแห่งชาติ จาก มสวท. เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา

แนวทางการทำงานให้ สตง.ของอาจารย์ทอมมี่จะเป็นการถ่ายทอดความรู้ทางด้านมาตรฐานรายงานทางการเงินที่ต้องอาศัยหลักสถิติประยุกต์มาสร้างแบบจำลอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัว TFRS9 ที่เป็นการประเมินมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน และอาจจะต่อไปถึง TFRS17 ที่เป็นการประเมินมูลค่าสำรองกรมธรรม์ เป็นต้น รวมถึงให้คำปรึกษาในการสอบบัญชีโดยเฉพาะกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions : SFIs) ที่สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ที่เคยทำให้ภาคเอกชนมาก่อน และให้ข้อเสนอแนะในการหาทางออกและแก้ปัญหาในกรณีที่มีความคลุมเครือในแบบจำลองทางการเงินต่างๆ ที่ต้องอาศัยการคำนวณที่ซับซ้อน
