top of page

วิเคราะห์จังหวะความสำเร็จของชีวิต กับบทสัมภาษณ์ของ แจ็ค หม่า (Jack Ma)

อัปเดตเมื่อ 27 ม.ค.


วิเคราะห์จังหวะความสำเร็จของชีวิต กับบทสัมภาษณ์ของ แจ็ค หม่า (Jack Ma)
วิเคราะห์ จังหวะความสำเร็จของชีวิต กับบทสัมภาษณ์ของ Jack Ma

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี) FSA, FIA, FSAT, FRM - นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย


ผมได้อ่านถึงบทสัมภาษณ์ของ “แจ็ค หม่า” กับ CNBC และดูรายการที่ “แจ็ค หม่า” เคยสัมภาษณ์อยู่หลายอัน ทำให้เห็นถึงแนวคิดในการประสบความสำเร็จ โดยได้อธิบายว่าในแต่ละช่วงอายุ ควรมุ่งเน้นไปทิศทางไหนบ้าง เพราะจะมีเคล็ดลับความสำเร็จที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งจะเป็นฐานที่จะคอยส่งเสริมเวลาที่อายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ดังนั้น ตอนที่อายุยังน้อยจะยิ่งวางแผนได้ง่ายกว่าตอนที่อายุเยอะมากแล้ว แต่คนที่เดินทางมาค่อนชีวิตแล้วก็ไม่ต้องเสียใจไปครับ ยังสามารถอ่านบทความนี้เพื่อตามหาเส้นทางของตัวเองได้อยู่


บทความนี้จึงนำแนวคิดของบทสัมภาษณ์ที่ชื่อว่า How to be successful in your 20s, 30s, 40s and beyond

แหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.cnbc.com/2018/01/30/jack-ma-dont-fear-making-mistakes-in-your-20s-and-30s.html


1. ก่อนอายุ 20-25 ปี | ผิดพลาดให้เต็มที่


ความสำเร็จ ก่อนอายุ 20-25 ปี | ผิดพลาดให้เต็มที่
วิเคราะห์ จังหวะความสำเร็จของชีวิต กับบทสัมภาษณ์ของ Jack Ma

คนเรานั้นไม่ต้องห่วงหรือกังวลเรื่องความผิดพลาด เพราะถ้าหากผิดพลาดก็แค่ลุกขึ้นมาใหม่ คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ได้ดูกันที่ทำอะไรแล้วสำเร็จ แต่มันอยู่ที่ว่าล้มแล้วจะลุกขึ้นยืนได้หรือไม่ต่างหาก ถ้าจะผิดพลาดก็ทำให้มันเต็มที่ พร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับมัน เพราะโรงเรียนได้แต่สอนในการทำเเต่สิ่งที่ถูก แต่ชีวิตจริงนั้นมันต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด และก้าวกระโดดขึ้นไป มันเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับทุกคน ก่อนที่จะอายุ 25 ปี นั้น เป็นช่วงเวลาที่จะซึมซับความรู้ และสั่งสมประสบการณ์ได้ดีที่สุด หลายคนจบมาทำงานเพื่อหวังเงินเดือนสูงๆ แต่นั้นเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับที่ “แจ๊ค หม่า” คิด เพราะเขากลับมองว่าประสบ การณ์ต่างหากที่เงินในช่วงนั้นหาซื้อไม่ได้


ก่อนอายุ 25 ปีนั้น ควรลงทุนเวลาของตัวเองเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากและหลากหลายที่สุด โดยไม่ควรเอาเวลาไปแลกกับเงิน

2. ก่อนอายุ 30 ปี | เลือกทำงานหานายที่ดี


ความสำเร็จ ก่อนอายุ 30 ปี  เลือกทำงานหานายที่ดี
วิเคราะห์ จังหวะความสำเร็จของชีวิต กับบทสัมภาษณ์ของ Jack Ma

ผมเห็นด้วยกับ “แจ๊ค หม่า” ที่ว่ามันไม่สำคัญว่าเราจะไปทำงานที่บริษัทไหน แต่สำคัญที่นายของเราเป็นใคร เพราะนายที่ดีจะเป็นอาจารย์ที่สอนให้เรารู้จักการเรียนรู้ที่ต่างออกไป จงติดตามนายที่ดี จงทำตามเขา เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมนั้น ในสมัยที่ไปทำงานที่ฮ่องกง ได้เคยติดตามหัวหน้าคนหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นเวลาสั้น ๆ แต่ผมก็ได้ข้อคิดและแบบอย่างมากมายที่พอกลับมาคิดทบทวนดูแล้ว มันเป็นสิ่งที่ตีมูลค่าไม่ได้จริง ๆ กับการที่ได้เจอนายที่ดี และมีอิทธิพลกับวิธีคิดในการทำงานอย่างมืออาชีพ


“แจ๊ค หม่า” ให้สัมภาษณ์ว่า จงไปที่บริษัทเล็ก เพราะปกติแล้วบริษัทใหญ่ ๆ จะให้เรารู้จักแค่กระบวนการทำงาน และเราก็จะกลายเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเครื่องจักรขนาดใหญ่ แต่เมื่อเราไปบริษัทเล็ก ๆ เราจะได้เรียนรู้ถึง passion และความฝัน รวมถึงขัดเกลา common sense และไหวพริบของเรา


แน่นอนว่าบริษัทเล็กย่อมมีสวัสดิการ เงินเดือน และความมั่นคงที่สู้บริษัทใหญ่ไม่ได้ แต่ในช่วงอายุนี้เป็นช่วงของการค้นหาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ค้นหาครู ค้นหาวิชา ค้นหาวิธีขัดเกลาพัฒนาตัวเอง ซึ่งบริษัทเล็กจะมีโอกาสมากกว่า


แต่ก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทเล็กทุกบริษัทจะดีกว่าเสมอไป ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น “แจ๊ค หม่า” ไม่ได้หมายถึงว่า บริษัทใหญ่จะเป็นบริษัทที่ไม่ดี เพียงแต่บริษัทใหญ่นั้น ทุกอย่างมันถูกสร้างจนนิ่งเป็นระบบไปหมดแล้ว เลยอาจปิดกั้นโอกาสทางความคิดและความสามารถที่ซ่อนเร้นของเราโดยไม่รู้ตัว แต่คนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะทำงานบริษัทใหญ่เพราะแลกมาด้วย สวัสดิการและเงินเดือนที่ดี ซึ่งถ้าได้นายที่ดีด้วย ก็จะโชคดีมาก


3. อายุ 30-40 ปี | เริ่มเป็นนายตัวเอง


ความสำเร็จของชีวิต อายุ 30-40 ปี  เริ่มเป็นนายตัวเอง
วิเคราะห์ จังหวะความสำเร็จของชีวิต กับบทสัมภาษณ์ของ Jack Ma

หากเราต้องการเป็นผู้ประกอบการแล้ว ก็สามารถออกมาเริ่มต้นได้ในช่วงอายุนี้ เนื่องจากการสั่งสมประสบการณ์มากขึ้นจนสามารถที่จะออกมาเป็นนายตัวเองได้ โดย “แจ๊ค หม่า” สนับสนุนให้คนออกมาเป็นเจ้าของธุรกิจ


แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมคิดว่าชีวิตเราสามารถเลือกทางเดินได้ ผมเห็นด้วยกับ “แจ๊ค หม่า” ว่าช่วงจังหวะชีวิตนี้เป็นช่วงที่สามารถออกมาทำธุรกิจของตัวเองได้ แต่ในมุมกลับกัน ช่วงอายุนี้ก็เป็นช่วงที่ให้เราตัดสินใจว่าอยากจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรืออยากจะประกอบธุรกิจของตัวเอง เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาเป็นเจ้าของธุรกิจได้


ความเสี่ยงและความกดดันของการเป็นเจ้าของกิจการนั้นมีเยอะมาก การตัดสินใจตรงช่วงชีวิตนี้เป็นเรื่องสำคัญ ควรคิดให้ดี อย่างผมเองนั้นใช้เวลาตรึกตรองอยู่ 3 – 5 ปี จนมั่นใจว่าจะเลือกชีวิตแบบไหน และถ้าได้คิดจนตกผลึกได้ดีแล้ว ชีวิตจะมีความสุขมากกับการเลือกเส้นทางของชีวิตที่ตนเองได้เลือกไว้


4. อายุ 40-50 ปี | โฟกัสงานที่ถนัด


ความสำเร็จของชีวิต อายุ 40-50 ปี โฟกัสงานที่ถนัด
วิเคราะห์ จังหวะความสำเร็จของชีวิต กับบทสัมภาษณ์ของ Jack Ma

ถึงจังหวะนี้ เราจะต้องทำงานที่ชำนาญที่สุด อย่าไปมองหางานประเภทใหม่ ๆ เพราะมันสายไปแล้ว เราอาจจะทำสำเร็จ แต่โอกาสที่จะล้มเหลวนั้นมันใหญ่เกินไป ให้เราโฟกัสในสิ่งที่เราถนัดดีกว่า หมดโอกาสค้นหาตัวเองในจุดนี้แล้ว ให้ต่อยอดจากสิ่งที่เรามีอยู่จะดีกว่าครับ


อนึ่ง อายุในช่วงนี้ถ้ายังไม่ได้มีครอบครัว ก็คงเลือกได้แล้วว่าจะเป็นโสดไปตลอด การวางแผนทางการเงินและการใช้ชีวิต ก็แตกต่างกัน ในช่วงอายุนี้จะเป็นวัยแห่งการมองหาประกันชีวิต หลักมั่นคง และการวางแผนการเกษียณ อีกทั้งยังต้องหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น


5. อายุ 50-60 ปี | หาผู้สืบทอด


ความสำเร็จของชีวิต อายุ 50-60 ปี หาผู้สืบทอด
วิเคราะห์ จังหวะความสำเร็จของชีวิต กับบทสัมภาษณ์ของ Jack Ma

“แจ๊ค หม่า” แนะนำให้เราทำงานเพื่อคนรุ่นหลัง เพราะคนรุ่นหลังที่ยังเป็นหนุ่มสาวจะทำงานเก่งกว่าเรา เราจงพึ่งพาเขา จงลงทุนในเขา ทำให้พวกเขามีความสามารถ ให้เขาสามารถทำงานแทนคุณได้ โดยในส่วนตัวผมเอง เราสามารถมองหาผู้สืบทอดให้เร็วกว่าในช่วงอายุนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องรอถึงอายุ 50 ก่อนจึงหาผู้สืบทอด


จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเห็นว่าเราเริ่มหาลูกศิษย์และผู้สืบทอดของเราได้ตั้งแต่อายุ 40 ครับ แต่ในวัยนี้ ขึ้นอยู่กับความสำเร็จของแต่ละคนว่าไปถึงจุดไหน ถ้าไปถึงได้ไกล มีการวางแผนทางการเงินและการเกษียณเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถทำงานเพื่อสังคมให้มากขึ้นได้


อนึ่ง คนในวัยนี้จะเริ่มให้ความสำคัญและมองเห็นว่าสุขภาพสำคัญมากกว่าเงินครับ

6. อายุมากกว่า 60 ปี | พักผ่อนอย่างมีความสุข


ความสำเร็จของชีวิต อายุมากกว่า 60 ปี พักผ่อนอย่างมีความสุข
วิเคราะห์ จังหวะความสำเร็จของชีวิต กับบทสัมภาษณ์ของ Jack Ma

ในจุดนี้ ถ้ามีเงิน มีเวลา แต่ไม่มีสุขภาพที่ดี ก็คงเรียกว่าเกษียณอย่างมีความสุขไม่ได้ “แจ๊ค หม่า” กล่าวไว้ว่า “จงใช้เวลาเพื่อตนเองอย่างเต็มที่ ช่วงนี้เป็นช่วงที่เราควรจะพักผ่อนมากที่สุด ละจากการงานทุกอย่าง และใช้ชีวิตท่ามกลางความสุขที่เราต้องการ ซึ่งนี่ก็คือความสำเร็จที่ดีที่สุดในชีวิตของเรานั่นเอง” แต่ในมุมมองของผมนั้น การเกษียณไม่ได้แปลว่าต้องหยุดทำงาน แต่มันหมายถึงได้ทำหรือได้ใช้ชีวิตในสิ่งที่อยากทำ โดยไม่มีข้อผูกมัดหรือข้อกังวลใด ๆ


การพักผ่อนอย่างมีความสุขของผม อาจจะเป็นการอ่านหนังสือ หรือ เขียนบทความดี ๆ ให้คนอื่นได้อ่านก็ได้


อ้างอิงจาก คอลัมน์ : สวัสดีแอคชัวรี ฉบับที่ 53 ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2562

 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ) FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons) ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

Comments


bottom of page