top of page

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

โดย พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่) FSA, FIA, FSAT, FRM


หลายคนคงเคยได้ยินคำว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มาก่อน หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกับกองทุน LTF กองทุน RMF และประกันชีวิตจากในตอนที่ผ่านมาแล้ว คราวนี้เราลองเปลี่ยนมุมมาทำความเข้าใจกับเครื่องมือลดหย่อนภาษีส่วนบุคคลสำหรับมนุษย์เงินเดือนกันบ้าง


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เป็นการเก็บออมเงินทางหนึ่งเพื่อให้มนุษย์เงินเดือนมีการออมเพื่อการเกษียณที่ดีในอนาคต โดยนายจ้างจะตกลงทำร่วมกันกับลูกจ้างที่เป็นพนักงานประจำ และในแต่ละเดือนนายจ้างจะหักเงินเดือนส่วนหนึ่งของลูกจ้างเพื่อนำไปเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

​กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) นั้นมีขึ้นสำหรับมนุษย์เงินเดือน โดยนายจ้างจะตกลงทำร่วมกันกับลูกจ้างที่เป็นพนักงานประจำและคอยเจียดเงินเข้ากองทุนนี้ในทุกๆ เดือน ซึ่งในแต่ละเดือนนายจ้างจะหักเงินเดือนส่วนหนึ่งของลูกจ้างเพื่อนำไปเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย

เงินในส่วนของลูกจ้าง เรียกว่า “เงินสะสมของลูกจ้าง” โดยลูกจ้างยอมให้หักเงินเดือนเพื่อใส่เป็นเงินสะสมเข้ากองทุน ตั้งแต่ร้อยละ 2 – 15 ของเงินเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของกองทุน และในขณะเดียวกันนายจ้างก็ต้องสมทบเพิ่มเข้าไปด้วย เรียกเงินในส่วนนี้ว่า “เงินสมทบของนายจ้าง” โดยจะสมทบในอัตราที่มากกว่าหรือเท่ากับเงินสะสมของลูกจ้างเสมอ


นายจ้างอาจมีเงื่อนไขการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนให้ลูกจ้างได้เลือก โดยนายจ้างอาจจะกำหนดอัตราเงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้างให้คงที่เท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ และบางทีก็อาจกำหนดให้มีการเพิ่มอัตราเงินสะสมหรือเงินสมทบตามอายุงานไปด้วยเหมือนกัน เช่น ถ้าอายุงานมากกว่า 5 ปีเป็นต้นไป จะเปลี่ยนอัตราเงินสมทบของนายจ้างจาก 5% ไปเป็น 7% ของเงินเดือน และถ้าอายุงานมากกว่า 10 ปีเป็นต้นไป จะเปลี่ยนอัตราเงินสมทบของนายจ้างจาก 7% ไปเป็น 10% ของเงินเดือน เป็นต้น


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

ทั้งนี้ทั้งนั้น เงินสะสมของลูกจ้างและเงินสมทบของนายจ้างนั้น จะได้เอาออกมาเป็นก้อนก็ต่อเมื่อลูกจ้างลาออกจากบริษัท ซึ่งเงินสะสมของลูกจ้างนั้นจะต้องได้รับคืนเต็มจำนวน ขณะที่เงินสมทบของนายจ้างนั้นอาจไม่ได้รับเต็มจำนวน ถ้าอายุงานกับบริษัทมีไม่มากพอเพราะ “เงินสมทบของนายจ้าง” จะขึ้นกับเงื่อนไขของนายจ้างที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก เช่น อายุงานน้อยกว่า 5 ปี จะได้รับ “เงินสมทบของนายจ้าง” เพียง 50% แต่ถ้าอายุงานมีถึง 10 ปีเป็นต้นไป ก็จะได้รับ “เงินสมทบของนายจ้าง” เต็มจำนวน เป็นต้น


ตัวอย่าง เงื่อนไขของการคืนเงิน “สมทบของนายจ้าง” เมื่อลาออกจากบริษัท

​อายุงานน้อยกว่า 3ปี

​ไม่ได้รับเงินสมทบของนายจ้างคืน

อายุงานตั้งแต่ 3ปี - 5 ปี

​ร้อยละ 25 ของเงินสมทบของนายจ้างที่สะสมไว้

อายุงานตั้งแต่ 5 – 10 ปีขึ้นไป

ร้อยละ 75 ของเงินสมทบของนายจ้างที่สะสมไว้

อายุงานตั้งแต่10 ปีขึ้นไป

เต็มจำนวนของเงินสมทบของนายจ้างที่สะสมไว้

และเมื่อนำเงินมาใส่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว ผู้จัดการกองทุนจะนำเงินไปลงทุนตามแต่นโยบายการลงทุนที่ลูกจ้างได้เลือกเอาไว้ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากกองทุนออกมา ซึ่งเราจะเรียกว่า “ผลประโยชน์จากเงินสะสมของลูกจ้าง” และ “ผลประโยชน์จากเงินสะสมของนายจ้าง” ที่จะแยกบัญชีเป็นส่วนๆ ไป เพื่อใช้คำนวณภาษีที่อาจจะมีถ้าทำผิดเงื่อนไขในอนาคต


โดยสรุปแล้ว ส่วนประกอบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีอยู่ 4 ส่วนดังนี้

เงินสะสมของลูกจ้าง

หักสะสมไว้ในอัตราร้อยละ 2 – 15 ของเงินเดือน ซึ่งเงินส่วนนี้นำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ และจะได้รับคืนเต็มจำนวนเมื่อลาออก โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีย้อนหลังในภายหลัง


เงินสมทบของนายจ้าง

สมทบให้ไม่น้อยกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง แต่อาจไม่ได้รับเงินเต็มจำนวนเมื่อลาออกก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ เพราะมีเงื่อนไขในการรับเงินคืนตามจำนวนอายุงาน

ผลประโยชน์จากเงินสะสมของลูกจ้าง

ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้มาจากเงินสะสมของลูกจ้าง

ผลประโยชน์จากเงินสะสมของนายจ้าง

ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้มาจากเงินสะสมของนายจ้าง

จำนวนเงินที่ถูกหักเข้าไปเป็น “เงินสะสมของลูกจ้าง” ในแต่ละปีนั้นสามารถนำมาลดหย่อนภาษีในปีภาษีนั้นได้ แต่ทั้งนี้ลูกจ้างจะต้องหักเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ ไม่เช่นนั้นแล้วจะต้องเสียภาษีจาก เงินสมทบของนายจ้าง ผลประโยชน์จากเงินสะสมของลูกจ้าง และผลประโยชน์จากเงินสมทบของนายจ้าง เมื่อเวลาที่ลาออกจากบริษัทและไม่ได้ต่ออายุกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


การต่ออายุของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังจากลาออกจากบริษัท นายจ้างนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้เข้าไปทำงาน ในบริษัทนายจ้างใหม่ และให้มีการหักเงินเดือนเข้าไปในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภายใน 1 ปี หลังจากที่ได้ลาออกมาจากที่ทำงานเก่า ดังนั้น จึงเป็นที่น่าเสียดายว่ามนุษย์เงินเดือนที่ลาออกมาทำกิจการเองจะต้องเสียภาษีจากการได้เงินก้อนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปโดยปริยาย


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund)

อ้างอิงจาก คอลัมน์ : สวัสดีแอคชัวรี ฉบับที่ 45 ประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2560


 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ) FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons) ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

Comments


bottom of page