ถ้าถามถึงอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ “ประกันภัย” มีอะไรบ้าง เชื่อว่าหลายคนคงนึกไปถึง“ตัวแทนขายประกัน”ก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นการสมัครขอรับความคุ้มครอง สอบถามรายละเอียด หรือแม้แต่เสนอขายกรมธรรม์ ล้วนผ่านตัวแทนขายเสียส่วนใหญ่ ดังนั้นเมื่อนึกถึงคำว่า “ประกันภัย” ภาพของตัวแทนขายมักจะแนบเนื่องคู่กันมาเสมอ ทว่าหากเราเอ่ยถึงอาชีพ “นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (แอคชัวรี)” เชื่อว่าหลายคนไม่คุ้นกับชื่อนี้ เราจึงพาคุณผู้อ่านมารู้จักกับผู้ที่ทำอาชีพนี้ “พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน” หรือ “ทอมมี่” หนึ่งในคนไทยที่เป็นรุ่นบุกเบิก สอบผ่านคุณวุฒิระดับ Fellow of the Society of Actuaries (FSA) ซึ่งเป็นคุณวุฒิสูงสุดของนักคณิตศาสตร์ประกันภัย (แอคชัวรี) ที่ยอมรับกันทั่วโลก
แรกเริ่มผมไม่ได้เรียนจบทางด้านนี้โดยตรง แค่เรียนจบวิศวะ จุฬาฯ อีกทั้งตอนที่จบใหม่ๆ ก็ได้ไปทำงานในโรงงานมาก่อน พอทำได้ประมาณหนึ่งปี ก็เกิดคำถามว่างานที่ทำอยู่นี้ใช่สิ่งที่เราชอบไหม ตอนนั้นได้ค้นหาข้อมูลว่าอาชีพไหนที่น่าจะเหมาะกับเรา พอดีนึกไปตอนตอนที่เราเรียนวิชาสถิติวิศวกรรม ซึ่งเป็นวิชาที่ชอบ จำได้ว่าอาจารย์เคยพูดถึงคณิตศาสตร์ประกันภัย พอลองค้นข้อมูลแล้วพบว่าอาชีพนี้ติด ๕ อันดับแรกของอาชีพที่ดีที่สุดในประเทศอื่นๆ มาตลอด และเห็นว่าทั่วโลกยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่ จึงเริ่มสนใจขึ้นมา
ในวันสัมภาษณ์งานนอกจากจะได้รู้ว่าอาชีพนี้ทำอะไรแล้ว ยังได้รู้อีกอย่างว่าการจะเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น ไม่ได้ดูที่ปริญญาว่าจบอะไรมา แต่จะดูที่การสอบคุณวุฒิทางด้านอาชีพนี้เป็นหลัก เหมือนหมอหรือทนายความที่ต้องสอบเอาวุฒิเฉพาะทาง โดยการสอบเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้นในขณะนี้จะแบ่งออกได้ประมาณ ๑๐ ขั้น คล้ายๆด่านเส้าหลินในหนังจีน ที่ต้องผ่านไปให้ได้ทีละด่านจนครบ
เริ่มจาก ๕ ด่านแรกจะเป็นความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ สถิติ การเงิน เศรษฐกิจ การจัดการความเสี่ยง ซึ่งควรสอบให้ได้อย่างน้อย ๓ – ๕ ด่านในช่วงที่เรียนปริญญาตรี (เหมือนจบเป็นหมอทั่วไป)
ส่วนด่านที่ ๖ และ ๗ นั้น เนื้อหาในการสอบจะเริ่มลงลึกในการประยุกต์ ด้านธุรกิจ รวมถึงการจัดการในบริษัทประกัน ผู้ที่ผ่านด่านเหล่านี้แล้วจะได้คุณวุฒิระดับกลาง Associate of the Society of Actuaries (ASA) ซึ่งเริ่มเฉพาะทางขึ้น และควรมีควบคู่ไปกับประสบการณ์ (เหมือนหมอทั่วไปที่เลือกเป็นหมอเฉพาะทาง)
จากนั้นจึงเข้าสู่ความยากขึ้นไปอีก ในด่านที่ ๗ – ๙ ซึ่งตรงนี้จะสามารถเลือกสายเฉพาะทางได้ เช่น ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ ประกันกลุ่ม หรือแม้กระทั่ง การจัดการความเสี่ยง หรือการลงทุน เป็นต้น (เปรียบได้กับหมอที่เลือกว่าจะเฉพาะทางด้านผ่าตัด เข่า หัวใจ หรือสมอง) ซึ่งตัวผมเลือกทางด้านประกันชีวิต เมื่อสอบครบผ่านทุกขั้นแล้วจะได้วุฒิระดับเฟลโล่
เหตุที่บุคลากรอาชีพนี้มีจำนวนน้อย สาเหตุหลักอย่างหนึ่งคือการสอบที่ถือว่าโหดหินมาก หลายๆคนอาจใช้เวลาสอบยาวนานมากกว่า ๑๐ ปีถึงจะผ่านเป็นเฟลโล่ (Fellow) ได้ แต่โชคดีที่ปัจจุบันเริ่มมีคนไทยหันมาสอบกันมากขึ้นจนในขณะนี้มีผู้ที่ผ่านระดับสูงสุดอยู่ ๑๖ คนแล้ว
การสอบแต่ละขั้นนั้น ต้องมุ่งมั่นและตั้งใจอ่านหนังสืออย่างจริงจังกว่าจะผ่านได้ โดยในตอนนั้นเราก็ได้คิดว่าต้องพยายามให้เต็มที่ เพราะเมื่อได้คุณวุฒิเพิ่มขึ้นก็จะได้รับมอบหมายงานที่ท้าทายขึ้น ซึ่งก็โชคดีสอบได้ครบจนเป็นเฟลโล่ (Fellow) ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และถึงแม้ว่าเราจะสอบผ่านมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว แต่เราก็ยังแอบคิดว่ามันโหดเอาการอยู่ทุกครั้งที่กลับไปคิดถึงมัน
ความรู้ที่ใช้สอบนั้นต้องเป็นไปตามหลักสูตรสากลที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งแปลว่าจะเรียนอยู่คณะอะไรก็สามารถลองมาสอบได้ ไม่ว่าจะเป็นสายวิศวะ เศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์หรือสถิติประยุกต์ ก็สามารถเริ่มศึกษากันตั้งแต่เริ่มเข้ารั้วมหาวิทยาลัยได้ (บางคนเริ่มสอบกันตอนมัธยมปลาย) ส่วนใหญ่จะต้องอ่านหนังสือด้วยตนเอง อย่างเก่งก็ไปหาเรียนกวดวิชาทางด้านนี้เพื่อสอบเอา ซึ่งถ้าเริ่มก่อนก็ได้เปรียบก่อน เพราะการสอบแบบนี้ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอนที่ยาวไกลถึง ๑๐ สนาม ดังนั้น สนามแรกๆ จึงเป็นบททดสอบพื้นฐานว่าเราพอจะไปได้ไกลถึงขั้นไหน
แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าถ้าสอบไม่ครบทั้ง ๑๐ ขั้นแล้วจะทำงานไม่ได้ เราสามารถใช้ประสบการณ์เป็นตัวเสริม และก็ยังสามารถนำความรู้และทักษะที่มีไปต่อยอดในสายงานอื่นๆได้ เช่น การตลาด การเงิน หรือแม้แต่ ผู้บริหารของบริษัทประกัน หลายคนเริ่มต้นมาจากการเป็นนักคณิตศาสตร์ประกันภัย
กว่าจะได้รับรองคุณวุฒิ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่ได้นั้น ต้องใช้ทั้งความพากเพียรและอดทนเป็นอย่างสูง เชื่อว่าตอนนี้หลายๆคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่านักคณิตศาสตร์ประกันภัยหรือแอคชัวรีมีหน้าที่ทำอะไรบ้าง
อาชีพนี้ถ้าดูตามเนื้องาน คือ การประมาณการสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือ การจำลองอนาคต โดยใช้สถิติเป็นเครื่องมือ พูดง่ายๆคือการนั่งเทียนอย่างมีหลักการ (หัวเราะ) เราใช้สถิติในการวิเคราะห์อดีต ปัจจุบัน แล้วบอกภาพในวันข้างหน้า เช่น ถ้ามีปัจจัยนี้เกิดขึ้น ผลที่ตามมาจะเป็นเช่นไร best case worst case เป็นอย่างไร เป็นต้น หน้าที่หลักๆจะแบ่งออกเป็น ๓ สาย ได้แก่
สายที่หนึ่ง การออกแบบประกัน เปรียบเสมือนการสร้างตึก เราจะนำข้อมูลทางสถิติและประมาณการแนวโน้มในอนาคตมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ว่าควรเป็นในรูปแบบใด รวมทั้งใช้ในการตั้งสมมติฐานราคาสินค้า วางแผนช่องทางการจัดจำหน่าย นอกจากตัวแทนขายแล้วมีช่องทางใดอีกบ้าง และด้านต้นทุนการจัดจำหน่ายที่ต้องสอดคล้องกับราคาสินค้า คำนวณตัวแปรเหล่านี้ให้ออกมาอย่างเหมาะสม
สายที่สอง ดูแลเงินทุนสำรองให้เพียงพอ เปรียบเสมือนการดูแลตึกไม่ให้พังลงมา คอยเช็คดูว่ามีรอยร้าวไหว ดังเช่น เวลาเรารับเบี้ยประกันมา แต่ยังไม่ได้จ่ายค่าสินไหมให้ผู้ถือกรมธรรม์ในทันที แต่เราต้องมีเงินในกระปุกเป็นเงินสำรองให้เพียงพอเมื่อถึงเวลาต้องใช้ หน้าที่ของเราคือต้องคำนวณว่าจะตั้งสำรองเท่าไหร่จึงจะพอดี
สายที่สาม การบริหารจัดการความเสี่ยง โดยประเมินสถานการณ์ในอนาคตที่จะส่งผลกระทบต่อองค์กร เช่น ในแต่ละปีเราไม่รู้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกี่ครั้ง ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ เราจะใช้สถิติเพื่อวิเคราะห์และประมาณการสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้น เพื่อเตรียมการตัดสินใจและรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ
งานของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยนั้น เมื่อมองแล้วอาจจะดูไม่ได้แตกต่างจากวิศวกรรมการเงินมากนัก สิ่งที่เหมือนกันคือการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ การเงิน และสถิติ มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนงาน แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือการใช้ตัวแปร เช่น อัตราการเกิด อัตราการตาย อัตราการเข้าโรงพยาบาล ซึ่งไม่มีในการวิเคราะห์ตลาดหลักทรัพย์
ปัญหาที่มักพบเห็นอยู่เสมอ คือการที่บุคคลทั่วไปไม่ค่อยเข้าใจถึงอาชีพนี้ ซึ่งก็มีส่วนทำให้เกิดความท้อใจแก่คนที่ก้าวเข้ามาในสายอาชีพนี้บ้าง
ถ้ามองจากสายตาคนภายนอก เมื่อพูดถึงคำว่านักคณิตศาสตร์ก็จะงงแล้วว่าทำอะไร ยิ่งมีคำว่าประกันภัยต่อท้าย ผู้ใหญ่บางท่านอาจจะไม่ค่อยชอบ เพราะอาจเคยผ่านประสบการณ์ไม่ดีกับเรื่องประกันมาก่อน จึงอาจเกิดแรงต้านอยู่บ้าง ในขณะที่เรามองว่าอาชีพนี้สนุกและท้าทาย เพราะต้องใช้ความคิดมาก และยังขาดคน เลยทำให้เราได้โอกาสลองงานหลายๆอย่าง เกิดเป็นความภาคภูมิใจด้วย ทั้งยังเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือสังคม ให้ประชาชนทั่วไปมีหลักประกันดีๆสักชิ้น เป็นการจัดการความเสี่ยงระดับครัวเรือน ยกตัวอย่าง ข่าวพ่อแม่เสียชีวิตทั้งคู่ เหลือลูกสองคนเรียนชั้นประถมกับอนุบาลไว้ข้างหลัง เมื่อเกิดแบบนี้ขึ้นจะทำอย่างไรหละ เด็กสองคนนี้จะมีต้นทุนค่าเสียโอกาสต่างๆในอนาคต สิ่งที่อาชีพเราจะช่วยได้คือเรื่องเกี่ยวกับการเงิน การจัดการความเสี่ยง การดูแล Financial lost ของเขา เช่น ค่าเล่าเรียนต่อในอนาคต แต่ทั้งนี้ในประเทศไทยมีคนทำประกันไม่ถึง ๒๐% เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่เกือบจะเกิน ๑๐๐% ผมเคยเขียนบทความการเลือกซื้อของคนไทยระหว่าง กระดาษชำระ ล็อตเตอรี่ และประกัน สามสิ่งซึ่งเป็นกระดาษเหมือนกันหมด คนไทยดูเหมือนจะซื้อล็อตเตอรี่มากที่สุด
ในอนาคตผมอยากจะยกระดับอาชีพคณิตศาสตร์ประกันภัยนี้ ให้เป็นที่ยอมรับและเปิดโอกาสให้มากกว่าเดิม สร้างความเข้าใจใหม่ว่าอาชีพนี้สามารถประยุกต์ใช้กับงานด้านอื่นได้ ไม่จำเป็นต้องทำงานในบริษัทประกันภัยเท่านั้น และอยากจะพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างงานที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ผมมองว่าความเป็นมืออาชีพ คือ การที่คนๆนั้นมีความเชี่ยวชาญและมีทักษะบางอย่างเฉพาะตัว ซึ่งได้รับความไว้วางใจและฝากความหวังไว้ เราเองเองอาจมีทักษะบางอย่างที่คนอื่นไม่มี เช่น ทักษะในการคำนวณออกแบบประกัน หน้าที่ของเราคือการทำงานในสายงานของเราอย่างเต็มที่ ไม่ทำให้ผู้ที่ไว้ใจในความสามารถของเราต้องผิดหวัง
ขอขอบคุณอ้างอิง : ACTUARIALBIZ
เขียนโดยอาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน)
คลังความรู้ : วันที่ 16 กรกฎาคม 2562
เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)
FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)
ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น
コメント