เปิดประตู สู่ความเป็นมืออาชีพ กุญแจดอกที่ 4 “ก้าวแรกสู่สังเวียน”
ตอน โหยหา
งานของแอคชัวรี จะเกี่ยวข้องกับการเงิน การจัดการความเสี่ยง โดยใช้คณิตศาสตร์และสถิติ เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยในการจัดการแก้ปัญหา สำหรับการทำธุรกิจ
แอคชัวรี จึงเป็นที่ต้องการในองค์กรที่แตกต่างกัน โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับประกันภัยและธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการประกันภัย ดังต่อไปนี้
• ธุรกิจประกันภัย
• ประกันภัยชีวิต
• ประกันวินาศภัย
• ประกันสุขภาพ
• ประกันภัยต่อ
• ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการประกันภัย
• เงินสำรองผลประโยชน์พนักงาน
• วางแผนเพื่อการเกษียณ
• โรงพยาบาลหรือหน่วยงานรัฐ
• การเงิน การธนาคาร และการจัดการความเสี่ยง
• ให้คำปรึกษา
ธุรกิจประกันภัย
1. ธุรกิจประกันชีวิต (Life Insurance Company)
เป็นธุรกิจที่ให้บริการทางการประกันชีวิต การออมเงิน เงินบำนาญ และบริการทางการเงินอื่นๆ เพื่อที่จะให้ลูกค้ามีภูมิคุ้มกันและความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
งานเหล่านี้รวมไปถึงการรักษาระดับรายได้ภายหลังเกษียณ หรือการจ่ายให้กับลูกหลานหากผู้เลี้ยงดูเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร
แอคชัวรีออกแบบ ตั้งราคา และประเมินค่าสินค้าเหล่านั้น รวมถึงช่วยกำหนดสัดส่วนในการลงทุน อีกด้วย
บริษัทประกันชีวิตยังใช้แอคชัวรี สำหรับการจัดการทางการเงินและการจัดการความเสี่ยง ที่จะทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่า ลูกค้าไม่โดนเอาเปรียบ และบริษัทมีเงินคืนให้ลูกค้าได้ครบถ้วน ตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญาประกันชีวิต
2. ธุรกิจประกันวินาศภัย (General Insurance)
รูปแบบประกันของบริษัทประกันวินาศภัยในทุกวันนี้คือ ประกันไฟไหม้ ประกันรถยนต์ ประกันน้ำท่วม ประกันแผ่นดินไหว ประกันรายได้ หรือประกันอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ประกันชีวิตคน
ธุรกิจนี้มีความต้องการจากแอคชัวรีมากขึ้น โดยเฉพาะการวิเคราะห์และสถิติที่สามารถประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรทางการเงินของสินค้าทางด้านประกันวินาศภัย
เงินสำรองที่จะต้องถือไว้สำหรับค่าสินไหมในอนาคต ก็เป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของธุรกิจนี้เช่นกัน
3. ธุรกิจประกันสุขภาพ (Health Insurance)
หนึ่งในสวัสดิการทางสังคมที่จำเป็นต้องมีนั้นคือการประกันสุขภาพ เพราะสุขภาพ ถือเป็นสมบัติล้ำค่ำของคนเราที่สุด
การออกแบบและบริหารความเสี่ยงของการประกันสุขภาพนั้นจำเป็นต้องดูถึงการเข้าถึงของระบบคลีนิคหรือโรงพยาบาล และความเท่าเทียมกันของผู้ได้รับการรักษา รวมไปถึงโครงสร้างของการจ่ายยา อีกด้วย
แต่ถึงแม้จะมีเงินซื้อประกันสุขภาพแค่ไหนก็ตาม มันก็ไม่ได้เป็นหลักการันตีที่จะทำให้สุขภาพดีได้ ดังนั้น คนเราจึงจำเป็นต้องรักษาสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ เดินทางสายกลาง ไม่ให้ตึงหรือหย่อนเกินไปครับ
4. ธุรกิจประกันภัยต่อ (Reinsurer)
หลายคนคงจะไม่เคยได้ยินคำว่า ประกันภัยต่อ แต่โดยหลักการแล้ว การประกันภัยต่อนั้น ถือเป็นเครื่องมือกระจายความเสี่ยงที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง ของธุรกิจประกันภัย
จะเห็นว่าบริษัทประกันภัยเป็นบริษัทที่ต้องแบกรับความเสี่ยงต่างๆ ของลูกค้าเอาไว้ เพราะต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้าในระยะยาว
การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่เมื่อความเสี่ยงบางประเภทที่รับเข้ามาแล้วเห็นว่ามีปริมาณมากหรือไม่เหมาะสมจนทำให้บริษัทต้องมองหาวิธีผ่องถ่ายความเสี่ยงนี้ไปสู่ที่อื่น
เหมือนน้ำที่ไหลเข้ามาในเขื่อน มากจนเกินไป ก็จะต้องหาวิธีผันน้ำไปกระจายต่อที่แหล่งกักเก็บน้ำอีกแห่งหนึ่ง
บริษัทประกันภัยจึงต้องมองหาบริษัทที่รับประกันภัยต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งบริษัทที่รับผ่องถ่ายความเสี่ยงจากบริษัทประกันภัยนั้นจะเรียกว่า “บริษัทประกันภัยต่อ” ซึ่งปกติแล้วจะมีเงินทุนที่หนาและใหญ่กว่าบริษัทประกันภัยทั่วไปมาก
โดยบริษัทประกันภัยต่อ จะเปรียบได้กับเขื่อนอีกชั้นหนึ่ง ที่ทำหน้าที่รองรับความเสี่ยงต่างๆ จากบริษัทประกันภัย
ธุรกิจทางเลือก
1. เงินสำรองผลประโยชน์พนักงาน
เกี่ยวข้องกับการออกแบบ การคำนวณเงินสมทบ และการพัฒนากลยุทธ์ทางการลงทุนเพื่อที่จะสามารถจ่ายคืนเงินบำนาญได้ตามที่สัญญาไว้
แอคชัวรีในธุรกิจประเภทนี้ ต้องอธิบายเรื่องราวที่ซับซ้อนให้ชัดเจนได้อีกด้วย
2. วางแผนเพื่อการเกษียณ
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) และกำลังจะกลายเป็นสังคมสูงอายุไปเสียแล้ว แต่ที่คนไทยจำนวนมากอาจยังคาดไม่ถึงคือ นับแต่นี้ต่อไป สังคมไทยจะมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมาก
ในช่วงเวลากว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มประชากรลดลงจาก 3% ต่อปี มาสู่ 1% ต่อปี ในขณะที่อัตราการตายของประชากรไทยได้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 0.5% ต่อปี เท่านั้น
อายุคนเราจะยืนขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว เพราะการแพทย์ปัจจุบัน เราอาจจะอยู่กันเป็น 100 ปี และถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็คงต้องลองคำนวณว่าเมื่อไหร่เงินเก็บที่เรามีจะหมดไป โดยการที่เงินเกษียณหมดก่อนเสียชีวิต ก็เหมือนกับการตายทั้งเป็น
3. โรงพยาบาลหรือหน่วยงานรัฐ
การประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลและหน่วยงานงบประมาณของรัฐทั้งนั้น ซึ่งการจัดการส่วนใหญ่จะต้องอาศัยการดูแลเรื่องต้นทุน ความเสี่ยง และความเท่าเทียมกันของผู้บริโภค
ในอนาคตอันใกล้นี้ คงจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องการตัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายในด้านประกันสุขภาพนั้น นับวันมีแต่เพิ่มทวีขึ้น
ส่วนคนสูงอายุที่มีมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐก็อาจจะมีงบประมาณไม่เพียงพอ อันเป็นสาเหตุที่จะต้องมีบุคคลที่สามารถช่วยจัดการและประเมินความเสี่ยงทางด้านนี้มาช่วย
4. การเงิน การธนาคาร และการจัดการความเสี่ยง
สูงสุดกลับคืนสู่สามัญ งานของแอคชัวรีนั้น จริงๆ แล้วคือ นักจัดการและประเมินความเสี่ยง ที่อาศัยแนวความคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ ประกอบกับวิชาสถิติประยุกต์ มาช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจ
ดังนั้น งานในส่วนนี้ จึงเป็นที่ต้องการในต่างประเทศ โดยจะเห็นได้จากประเทศออสเตรเลีย และอังกฤษ ที่เริ่มใช้งาน แอคชัวรี ให้มาทำโครงการงานต่างๆ กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการใหม่ๆ หรือการให้ช่วยออกแบบเครื่องมือทางการเงิน เพื่อให้ใช้กันในประเทศ
อีกทั้งจะเห็นว่า หน่วยงานภาครัฐในฮ่องกง ได้จ้างแอคชัวรีเพื่อที่จะตรวจสอบดูแลอุตสาหกรรมการเงินของประเทศ ในขณะที่โลกของเราเชื่อมต่อกันมากขึ้น หน้าที่อันหลากหลายก็เปิดกว้างมากขึ้น สำหรับวิชาชีพแอคชัวรี
โอกาสของแอคชัวรี จึงได้ถูกเปิดกว้างขึ้นในหลากหลายส่วนงาน เช่น ทางการศึกษาสิ่งแวดล้อม และ climate change ธุรกรรมทางอินเตอร์เนต งานสาธารณูปโภค จำพวกรถไฟฟ้า โรงงานถ่านหิน งานเกี่ยวกับพันธุกรรม
5. ธุรกิจให้คำปรึกษา (Actuarial Consultancy)
แอคชัวรี อาจได้รับโอกาสเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งก็ไม่พ้นธุรกิจที่จัดการความเสี่ยง รวมถึงธุรกิจที่มีการควบรวมกิจการ
งานในบริษัทที่ปรึกษาส่วนใหญ่ ก็ไม่พ้นธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันวินาศภัย ธุรกิจการคำนวณผลประโยชน์ของพนักงาน ธุรกิจจัดการความเสี่ยง.หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการทางสังคม เป็นต้น
เนื้อหานี้มาจากหนังสือเรื่อง “The Top Job Secret ภาค 2 เปิดประตู สู่ความเป็นมืออาชีพ”เป็นหนังสือที่รวบรวมความรู้และแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับสายอาชีพ “แอคชัวรี” ที่ถูกบรรจงเขียนผ่านการถ่ายทอดของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยชื่อดัง “อาจารย์ทอมมี่ เจียรมณีทวีสิน” หรือที่รู้จักกันในนาม “ทอมมี่ แอคชัวรี”หากสนใจอ่านเนื้อหาเพิ่มเติม สามารถดูรายละเอียดและสั่งซื้อหนังสือได้ที่ https://www.tommypichet.com/book
เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)
FSA, FIA, FSAT, FRM, MBA, MScFE (Distinction), B.Eng (Hons)
ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น
Comments