top of page

กฎเหล็ก 5 ข้อ ของการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน โดย ABS


กฎเหล็ก 5 ข้อ ของการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน ตามมาตรฐานบัญชีไทย ฉบับที่ 19
กฎเหล็ก 5 ข้อ ของการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน ตามมาตรฐานบัญชีไทย ฉบับที่ 19

สำหรับการ คำนวณผลประโยชน์พนักงาน ตาม มาตรฐานบัญชีไทย ฉบับที่ 19 นั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก และซับซ้อนพอสมควร ดังนั้นเราจึงจะมาสรุปกฎเหล็ก 5 ข้อที่ต้องจำให้ขึ้นใจเกี่ยวกับมาตรฐานฉบับนี้กัน


1. ค่าจ้าง ไม่เท่ากับ เงินเดือน

เคยมีข้อถกเถียงกันว่า คำว่าค่าจ้างในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน หมายถึงอะไร ถ้าบริษัทมีเงินค่าตำแหน่ง หรือค่าวิชาชีพให้พนักงาน จะต้องเอาส่วนนี้มาคำนวณผลประโยชน์พนักงานในส่วนของเงินชดเชยให้พนักงานเมื่อเกษียณอายุหรือไม่


ซึ่งข้อสงสัยนี้ เคยมีกรณีฟ้องร้องกันมาแล้ว ซึ่งอ้างอิงจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5024/2548 ได้ตัดสินว่าบริษัทจะต้องนำเงินประจำตำแหน่ง ค่ารถ และค่ารับรองอื่น ๆ ที่จ่ายเท่ากันทุกเดือน มาคำนวณเงินชดเชยที่จะต้องจ่ายให้พนักงานด้วยเจตนาของเรื่องนี้ เกิดจากว่าหากคำนวณผลประโยชน์พนักงานในส่วนของเงินชดเชยจากเงินเดือนเท่านั้น อาจจะเกิดช่องโหว่ให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างเช่น จะให้เงินเดือนพนักงาน 100,000 บาท แต่แยกย่อยเป็นเงินเดือน 20,000 บาท และค่าจ้างอื่น ๆ เช่น ค่าครองชีพ (Fixed Allowance) อีก 80,000 บาท ทำให้เมื่อ เกษียณอายุพนักงาน จะได้รับเงินชดเชยจากฐานเงินเดือนเพียง 20,000 บาท


กฎเหล็ก 5 ข้อ ของการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน ตามมาตรฐานบัญชีไทย ฉบับที่ 19
กฎเหล็ก 5 ข้อ ของการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน ตามมาตรฐานบัญชีไทย ฉบับที่ 19

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับที่ 6 ที่ประกาศใช้เมื่อปลายปี 2018 ได้ประกาศชัดเจนว่าการเกษียณอายุก็ถือเป็นการเลิกจ้าง และจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานตามมาตรา 118 ด้วย สำหรับนายจ้าง ตอนนี้ต้องเตรียมตัวคำนวณผลประโยชน์พนักงานเหล่านี้ ให้ตั้งเงินสำรองรับรู้เป็นภาระหนี้สินของบริษัท


นอกจากนี้ยังมีการประกาศอีกว่า หากบริษัทไม่ได้กำหนดอายุเกษียณ หรือกำหนดไว้เกินกว่า 60 ปี พนักงานสามารถขอเกษียณอายุได้เมื่ออายุครบ 60 ปี และจะมีผลใน 30 วัน เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากบริษัทไม่ได้กำหนดอายุเกษียณ หรือกำหนดไว้สูง ๆ เช่น 80 ปี หรือ 90 ปี ทำให้พนักงานจะไม่มีวันได้เกษียณอายุ แต่จะทำงานต่อไปเรื่อย ๆ จนทำไม่ไหว และลาออกไปเอง


3. ภาระผูกพันจากการอนุมาน

คำว่าอนุมานในที่นี้ หมายถึงว่าพนักงานอนุมานว่าจะได้รับ บริษัทจะต้องคำนวณผลประโยชน์พนักงานด้วย ยกตัวอย่างเช่น พนักงานสัญญาจ้างชั่วคราวแบบปีต่อปี ที่จ้างมาทำงานเหมือนพนักงานประจำ นั่งทำงานข้างกันมาตลอด หากถึงวันที่อายุ 60 ปี ก็ควรจะจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานทั้ง 2 คน ไม่ใช่แค่เฉพาะพนักงานประจำเท่านั้น หรือเคยเจอจากเหตุการณ์จริงว่า ปกติ บริษัทจะมีงบสำหรับจัดงานเลี้ยงประจำปี แต่มีปีหนึ่ง ไม่ได้จัดงาน จึงนำงบส่วนนี้มาซื้อทองแจกให้พนักงานที่อายุงานครบ 10 ปี และประกาศให้เป็นที่รับทราบกันทั้งบริษัท แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในสัญญาจ้าง หรือคู่มือพนักงาน แต่พนักงานก็รับทราบแล้ว ดังนั้นบริษัทจะต้องคำนวณผลประโยชน์พนักงานในส่วนนี้ด้วย เพราะถือเป็นภาระผูกพันจากการอนุมาน


4. การประมาณการไปข้างหน้า

ในการคำนวณตามมาตรฐานรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) ที่เมื่อคำนวณ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2019 ก็จะได้ภาระผูกพันของสิ้นปี 2019 แล้วนำไปหาส่วนต่างกับภาระผูกพันของสิ้นปี 2018 ได้เป็นค่าใช้จ่ายของปี 2019 แต่การคำนวณผลประโยชน์พนักงานตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย หากไม่ได้เป็นการคำนวณเพื่อปรับปรุงงบย้อนหลัง (Restatement) จะได้ผลลัพธ์คือภาระผูกพัน ณ สิ้นปีที่คำนวณ และค่าใช้จ่ายในอนาคต แต่จะไม่มีตัวเลขค่าใช้จ่ายในปีที่นั้น


เช่น คำนวณ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2019 ก็จะได้ภาระผูกพัน ณ สิ้นปีงบประมาณ 2019 และค่าใช้จ่ายของปี 2020 เป็นต้นไป แต่จะไม่มีค่าใช้จ่ายของปี 2019 ซึ่งค่าใช้จ่ายของปี 2019 นี้จะต้องใช้จากการคำนวณครั้งก่อนหน้า ซึ่งบ่อยครั้ง หลายบริษัทคิดว่าจะสามารถทำเหมือนการคำนวณแบบ NPAEs ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ว่า การคำนวณครั้งก่อนหน้ามีตัวเลขถึงสิ้นปี 2018 เลยคิดว่าจะมาคำนวณใหม่ ณ สิ้นปี 2019 ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมาคือ


• ไม่มีค่าใช้จ่ายของปี 2019 เพราะรายงานเล่มเก่าประมาณการมาไม่ถึง

และรายงานเล่มใหม่เป็นการคำนวณไปข้างหน้าเท่านั้น

• หากคำนวณแบบปรับปรุงงบย้อนหลัง ก็จะทำให้ตัวเลขที่ย้อนหลังไปถึงสิ้นปี 2018

ไม่ตรงกับที่คำนวณครั้งที่แล้ว เพราะคนละฐานข้อมูล คนละสมมติฐาน

• จะคำนวณส่วนต่างของภาระผูกพัน ณ สิ้นปี 2018 จากรายงานเล่มเก่า

และภาระผูกพัน ณ สิ้นปี 2019 แล้วบันทึก


เป็นค่าใช้จ่ายแบบ TFRS for NPAEs ก็ไม่ได้ เพราะหากบันทึกบัญชีตามมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 19 จะต้องแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น ต้นทุนบริการ และดอกเบี้ยสุทธิ รวมถึงเมื่อคำนวณใหม่ก็จะต้องมีผลกำไรขาดทุนจากการประมาณการตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuarial Gains and Losses)


ดังนั้นจึงเป็นกฎเหล็กที่สำคัญว่า ถ้าไม่ต้องการคำนวณผลประโยชน์พนักงานแบบปรับปรุงงบย้อนหลัง หากรายงานผลการประมาณการเล่มเก่าประมาณการล่วงหน้ามาถึงปีใด ก็จะต้องคำนวณใหม่ภายในปีนั้น เช่น หากเคยคำนวณเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2016 และประมาณการมาจนถึงปี 2019 ก็จะต้องคำนวณใหม่ภายในปี 2019 จะเว้นไปคำนวณ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2020 ไม่ได้

กฎเหล็ก 5 ข้อ ของการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน ตามมาตรฐานบัญชีไทย ฉบับที่ 19
กฎเหล็ก 5 ข้อ ของการคำนวณผลประโยชน์พนักงาน ตามมาตรฐานบัญชีไทย ฉบับที่ 19


5. การคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

สำหรับคุณวุฒินักคณิตศาสตร์ประกันภัย จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

ระดับสามัญ คือผู้ที่สอบผ่านวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ประกันภัย 5 หลักสูตร

ที่เทียบเท่าความรู้ระดับปริญญาตรี เช่น คณิตศาสตร์การเงินสถิติความน่าจะเป็น

ทฤษฎีและการพัฒนาแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์การเงินต่าง ๆ

ระดับแอสโซซิเอท คือ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับสามัญ ที่มีประสบการณ์

และสอบผ่านความรู้ที่นำมาประยุกต์ได้จริง สอบผ่านทั้งหมด 7 หลักสูตร

ระดับเฟลโล่ คือ ผู้ที่สอบผ่านครบทั้งหมด 10 หลักสูตร

และมีคุณวุฒิในการประกอบวิชาชีพนี้โดยสมบูรณ์แล้ว ที่มีประสบการณ์เฉพาะทางด้านสายนั้น ๆ


นักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่ คือ นักคณิตศาสตร์ประกันภัยที่สอบผ่านวิชาที่จำเป็นครบถ้วนหมดแล้ว เปรียบได้กับ ใบประกอบโรคศิลป์ของหมอ หรือ วุฒิ CPA ของผู้สอบบัญชี โดยในต่างประเทศ มีข้อกำหนดว่าผู้ที่จะคำนวณและเซ็นรับรองได้จะต้องเป็น Qualified Actuary หรือก็คือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่


ส่วนในประเทศไทยจะไม่ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพียงแต่ใช้คำว่า ผู้เชี่ยวชาญที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ซึ่งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ก็ควรจะเลือกนักคณิตศาสตร์ประกันภัยระดับเฟลโล่ (และก็บอกเกี่ยวกับเรื่องว่า ผลประโยชน์พนักงานระยะยาว ก็เหมือนกับ สัญญาระยะยาวของธุรกิจประกันภัย นั่นก็คือ ธุรกิจประกันชีวิต ดังนั้น ในอเมริกา คนที่จะเป็นเฟลโล่ ก็มีหลายแขนง แต่แขนงที่เป็นเฟลโล่ประกันชีวิต จะคำนวณผลประโยชน์พนักงานระยะยาวได้


ซึ่งสามารถตรวจสอบรายชื่อ และระดับคุณวุฒิของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยได้ที่ www.soat.or.th


 

เขียนโดย อาจารย์ทอมมี่ (พิเชฐ)

FSA, FIA, FRM, FSAT, MBA, MScFE (Hons), B.Eng (Hons)


ขอสงวนสิทธิ์ของเนื้อหาในบทความ ไม่ให้นำไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ ในเชิงพาณิชย์ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากทางบริษัท ABS เท่านั้น

bottom of page